วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นักล่าเกลียวเชือกหอยสายพันธุ์ใหม่


นักชีววิทยาค้นพบ "หอยนักล่าเกลียวเชือก" วงศ์ใหม่ของโลกในประเทศไทย ชอบอยู่ในที่อับชื้น ล่าหอยด้วยกัน และไข่แมลงต่างๆเป็นอาหาร เผยเป็นหอยที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เพราะช่วยควบคุมประชากรแมลง พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย

นายสมศักดิ์ ปัญหา ภาคชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ค้นพบหอยนักล่าเกลียวเชือก กล่าวว่า หอยนักล่าเกลียวเชือกถือเป็นไฮไลต์ของงานนี้ เนื่องจากเป็นการค้นพบหอยวงศ์ใหม่ของโลก ซึ่งมีรูปร่างต่างจากหอยทั่วไป โดยมีเปลือกรูปทรงกระบอกเรียว มีสีขาวเวียนขวา ปลายยอดมนทู่ สูงประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มี 8-9 ชั้น พบมากตามพื้นที่ที่ชื้น มีเศษซากใบไม้ทับถมเน่าเปื่อย โดยเฉพาะในแนวเขาหินปูน มักหลบซ่อนอยู่ใต้ซากใบไม้ในตอนกลางวันและออกหากินหลังฝนตก ขณะที่มีอากาศชื้นและตอนกลางคืน โดยจะล่าหอยชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กและไข่แมลงต่างๆ เป็นอาหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในพื้นที่ ในด้านการควบคุมประชากรแมลงไม่ให้มีมากจนเกินไป ทั้งนี้ หอยในสกุลนี้ส่วนใหญ่พบในประเทศฟิลิปปินส์ ประมาณ 40 ชนิด ในประเทศอื่นๆแถบอินโดจีนพบ 5 ชนิด สำหรับหอยเกลียวเชือก นักล่าชนิดนี้พบเฉพาะในภาคตะวันออกของไทยในเขต อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว