วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

ต้นกำเนิด "บาร์บี้" สาวน้อยพลาสติก


บุคคลที่เป็นผู้คิดค้นตุ๊กตา "บาร์บี้" มีชื่อว่า รูธ แฮนเลอร์ ประธานบริษัท "แมตเทล" ผู้จัดจำหน่ายของเล่นชื่อดังแห่งแดนลุงแซม เจ้าของลิขสิทธิ์ตุ๊กตาบาร์บา นั่นเอง

แฮนเลอร์ ได้รับแรงบันดาลใจที่จะประดิษฐ์ตุ๊กตาบาร์บี้ หลังจากเธอสังเกตเห็นว่า บาร์บารา ลูกสาวของเธอชอบเล่นตุ๊กตากระดาษที่มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าที่เป็นเด็ก จึงทำให้เธอเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าอยากจะผลิตตุ๊กตาพลาสติกที่มีรูปโฉมเป็นผู้ใหญ่ออกวางขาย ทว่า ในตอนแรกคนรอบกายของเธอไม่เห็นด้วย

ต่อมา เมื่อแฮนเลอร์มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรปในปี 1956 เธอก็ไปสะดุดตากับตุ๊กตา "ไบล์ด ลิลลี" ของเยอรมนี (ตุ๊กตารูปหญิงสาววัยทำงานที่วางจำหน่ายครั้งแรกในเยอรมนีปี 1955 โดยเป้าหมายทางการตลาดในตอนแรกต้องการเจาะกลุ่มผู้ใหญ่ แต่กลับได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆ มากกว่า) ซึ่งวางขายอยู่ในร้านขายของของสวิตเซอร์แลนด์และได้ซื้อกลับบ้านมา 3 ตัว โดยที่ตัวหนึ่งในลูกสาวส่วนที่เหลือนำมาเป็นต้นแบบในการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้

จากนั้น แฮนเลอร์ก็ได้ดัดแปลงเปลี่ยนโฉมตุ๊กตาลิลลีใหม่หมด พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า "บาร์บี้" ตามชื่อของลูกสาวเธอ ก่อนที่จะนำไปเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานมหกรรมของเล่นของมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1959 ซึ่งถือเป็นวันเกิดของบาร์บี้ด้วย

หากนับจนถึงบัดนี้ บาร์บี้สาวน้อยพลาสติกก็มีอายุได้ 48 ปีแล้ว ถ้าเป็นคนจริงๆ ก็เรียกว่าเป็นคุณแม่ได้เลย ทว่า ในโลกของตุ๊กตา บาร์บี้ก็ยังคงความน่ารัก สวยงามและทันสมัยอยู่เช่นเคย และยังคงเป็นที่นิยมของเด็กๆ ทั่วโลกได้ทุกยุคทุกสมัย

เรื่องราวของยาสีฟัน “ดาร์ลี” และ “ดาร์กี”


คนรุ่นใหม่อาจจำได้ไม่แน่ชัด แต่คนรุ่นเก่า (แต่ไม่แก่) คงคุ้นหูกับชื่อยาสีฟัน “ดาร์กี” (Darkie) ที่มีรูปโลโก้เป็นชายหน้าดำกำลังยิ้มเป็นอย่างดี สินค้าตัวนี้มีชื่อเป็นภาษาจีน แปลว่า “คนดำ”

“ดาร์กี” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ดาร์ลี” (Darlie) หลังจากที่บริษัทฮอว์ลีย์แอนด์ฮาเซิลผู้ผลิตเดิมบนเกาะฮ่องกง ถูกบริษัทสินค้าอุปโภคยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ จากสหรัฐอเมริกา ซื้อกิจการไปเมื่อปี 1985

สาเหตุที่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อนั้น มาจากการที่คอลเกต-ปาล์มโอลีฟถูกกดดันอย่างหนัก จากคนผิวสีและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เห็นว่าการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงเชื้อชาติของคนนั้นเป็นการเหยียดผิว ว่ากันว่าผู้ที่จุดเพลิงให้กระแสความไม่พอใจกระพือขึ้นจนขยายวงกว้าง ก็คือบริษัทคู่แข่งยักษ์ใหญ่ซึ่งนำยาสีฟันสูตรใหม่ออกวางตลาดในเวลาเดียวกันกับดาร์กีนั่นเอง

เนื่องจากภาพลักษณ์มีผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ คอลเกต-ปาล์มโอลีฟจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อยาสีฟันเป็นดาร์ลี และปรับปรุงภาพโลโก้จากเดิมที่เป็นภาพชายผิวดำหน้าตาคล้าย อัล โจลสัน นักร้องนักแสดงชาวอเมริกันชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20 มาเป็นภาพผู้ชายที่ระบุไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นคนเชื้อชาติใด

บรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์ชาวตะวันตกรู้สึกพอใจกับการเปลี่ยนชื่อ และอ้างว่ายาสีฟันขายดีขึ้นหลังจากนั้น แต่ที่หลายๆ คนไม่รู้ก็คือ ชื่อภาษาจีนของยาสีฟันยี่ห้อนี้แปลว่า “ยาสีฟันคนดำ” ยังคงไม่เปลี่ยน โดยมีการออกโฆษณารณรงค์ว่า “ยาสีฟันคนดำยังคงเป็นยาสีฟันคนดำอยู่” เนื่องจากในภาษาจีนนั่นไม่ได้มีความหมายในทางดูถูกดูหมิ่นคนเชื้อสายแอฟริกันแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ปัจจุบันยาสีฟันยี่ห้อนี้ยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะที่ฮ่องกงและไต้หวัน

Hello Kitty



                               

  Hello Kitty เป็นตัวการ์ตูนลิขสิทธิ์ของบริษัทซานริโอ ประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเล่นว่า "คิตตีจัง" ลักษณะเป็นลูกแมวเพศเมียสีขาว ติดโบว์สีแดงที่หูข้างซ้าย โดยนักออกแบบคนแรกที่เป็นผู้สร้างตัวเฮลโลคิตตี คือ ยูโกะ ชิมิซึ เมื่อ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1974 แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปี เธอได้ออกจากบริษัท และผู้ที่มารับหน้าที่ต่อก็คือ เซ็ตสึโกะ โยนิคุโบะ ซึ่งได้สานต่อเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะส่งมอบให้ ยูโกะ ยามางูชิ ซึ่งเป็นนักออกแบบให้กับ เฮลโลคิตตี้ มาจนถึงปัจจุบัน

ระยะเวลาทำให้ความโด่งดังของเฮลโลคิตตี้ไปทั่วโลก และกลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของสินค้านานาชนิดมากมาย จนกระทั่งเกิดตัวการ์ตูนเฮลโลคิตตีที่มีชีวิตจิตใจ และประวัติส่วนตัว การ์ตูนเรื่องแรกคือ Hello Kitty's Furry Tale Theater ออกอากาศเมื่อปี ค.ศ. 1987 ก่อนที่ผู้ผลิตการ์ตูนโทรทัศน์ชาวอเมริกันจะสร้างการ์ตูน  Hello Kitty and Friends ออกอากาศทางช่องซีบีเอส ในปี ค.ศ. 1991 จากนั้นทางญี่ปุ่นก็ได้สร้าง  Hello Kitty's Paradise ที่มีความยาว 16 ตอนออกอากาศระหว่างปี ค.ศ. 1993-1994 และมีการนำไปแปลงเป็นภาคภาษาอังกฤษ และออกอากาศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002