วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

สร้างสมดุลให้ร่างกาย ใกล้หน้าหนาว


เมืองไทยถือว่าโชคดี แม้จะไม่ค่อยหนาว มีแต่ร้อนกับร้อนกว่า แต่อากาศก็ไม่แปรปรวนมาก ไม่หนาวมาก ไม่ร้อนจัดจนขาดใจตาย (เพราะชินแล้ว) ในบางเมืองของบางประเทศ เช่น เมลเบิร์น คนเคยอยู่บอกว่า วันหนึ่งบางทีมี 4 ฤดูครบ ไปไหนในกระเป๋าต้องมีร่มกันฝนด้วยกันแดดด้วย เสื้อกันหนาว ที่ถอดออกแล้วเสื้อตัวในใส่เดี่ยวๆ ได้เพราะในวันเดียวกันมีฝนตก อากาศเย็นยะเยือก สักพักเดียวก็แดดออกร้อน


อากาศที่เปลี่ยนกะทันหันเป็นต้นเหตุให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันทำให้เกิดภาวะไม่ปกติ เกิดอาการเจ็บป่วย เป็นไข้ ไม่สบายเนื้อตัว จากเย็นเป็นร้อนก็พอทน แต่ถ้าจากอากาศร้อนอยู่ดีๆ เปลี่ยนเป็นหนาว หรือฤดูฝนที่กำลังแปรเปลี่ยนเป็นฤดูหนาวที่คนโบราณบอกว่าเป็นปลายฝนต้นหนาวจะส่งผลให้ร่างกายเป็นไข้เปลี่ยนฤดูนั่นคือ เกิดสภาวะไม่สมดุลในร่างกาย ด้วยไออุ่นในร่างกายไม่สมดุลกับสภาพอากาศร่างกายจะต้านทานอากาศหนาวไม่ได้แล้วถ้าหนาวฉับพลันทันใดร่างกายทนทานไม่ได้ก็อาจถึงขึ้นเสียชีวิต เช่นตัวอย่างที่พบบ่อยๆ จากคนในชนบท


แพทย์แผนไทยมีตำราว่าด้วยการป้องกันภัยจากลมหนาวแนะนำให้ดูแลตัวเองให้ร่างกายอบอุ่น กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และหมั่นสังเกตความผิดปกติในร่างกายเช่น ผิวหนังภายนอกแห้งแตก หนังหลุดลอกเป็นชั้นๆ รู้สึกคันตามเนื้อตัว ภายในปากเหมือนปากแห้ง ริมฝีปากแตก มีอาการคัดจมูก แน่นหน้าอก เจ็บคอ มีเสมหะตอนเช้า บางทีก็ท้องเสีย เวียนหัวแต่ไม่มีไข้ อาการที่ดูเหมือนผิดปกติเพียงนิดหน่อยแต่เป็นสัญญาณที่ร่างกายส่งเตือนแล้วว่านี่คืออาการของไข้เปลี่ยนฤดูที่มากับลมหนาว




การดูแลร่างกายเมื่อรู้สึกว่าเกิดอาการต่างๆ ดังกล่าว ได้แก่ หาเครื่องนุ่งห่มที่อบอุ่นป้องกันไม่ให้กระทบความเย็นจนเกินไป เวลานอนต้องสวมเสื้อผ้าหนาขึ้น ห่มผ้า ถ้าผิงไฟป้องกันความหนาว ทำมากเกินไปก็ไม่ดี ต้องค่อยๆ ไล่ให้ความอุ่นเข้ามาอย่างช้าๆ เพราะถ้าหนาวแล้วมาร้อนทันที ร่างกายก็ปรับตัวไม่ทันเหมือนกัน ส่วนอาหารการกินช่วยช่วยให้อิ่มและแล้วยังสามารถเป็นยาได้ด้วย คนโบราณให้กินข้าวเหมือนเป็นยาป้องกันไว้ก่อนจะได้ไม่ต้องกินยาจริง อาหารสู้ลมหนาวเป็นพืชผักสมุนไพรที่เกิดและเติบโตในฤดูกาลนั้น โดยฤดูหนาวในเมืองไทยอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม ช่วงนี้คนจะเจ็บป่วยบ่อยจากธาตุน้ำกำเริบ อาการแรกคือผิวแห้ง คันตามผิวหนัง มึนศีรษะ มีน้ำมูลไหล รู้สึกขัดยอกเนื้อตัว ขยับร่างกายไม่สะดวก ท้องอืด ควรเลือกกินอาหารบำรุงธาตุน้ำที่มีรสขมร้อน รสร้อน รสเปรี้ยว เผ็ดเล็กน้อย และงดเว้นอาหารที่มันจัด เช่น แกงส้มดอกแค ต้มย้ำ ต้มโคล้ง มีรสเผ็ดผสมเปรี้ยว น้ำขิงน้ำมะนาวน้ำส้มเหยาะเกลือเล็กน้อย





คนจีนก็มีศาสตร์การกินป้องกันอากาศหนาวเย็น เขาหนาวกว่าเรามาก และก็มีอาหาร "หยาง" ที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายมากกว่าบ้านเรา มีสูตรแพะตุ๋นยาจีน หรือต้มแกง ข้ามต้ม โจ๊ก ที่ใส่ขิงและพริกไทยมากขึ้น ซึ่งในอาหารไทยหลายชนิดมีพริกไทยเป็นส่วนผสมอยู่แล้ว การปรุงแต่งรสให้เปรี้ยวและเผ็ดร้อนขึ้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของอาหารไทยที่รู้จักกินตามฤดูกาลเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผักนั้นเนื่องจากฤดูหนาวเป็นช่วงต่อเนื่องจากฤดูฝนหน้าหนาวบ้านเราจึงอุดมด้วยผักและเห็ดนานาชนิด และผักที่ควรเลือกกินตอนหนาวๆ นี้ได้แก่ ยอดส้มมะขาม ยอดมะม่วง กระเจี๊ยบแดง ดอกแคเห็ดชนิดต่างๆ ทำแกงส้ม แกงเลียง แกงป่า ในชาติตะวันตกบอกว่า ต้องกินไขมันมากขึ้นเพราะช่วยสู้อากาศหนาวเย็น แต่ตำรับแพทย์ไทยบอกว่าจะไปขัดกับสมุฎฐานโรคเสมหะ หมายถึงยิ่งกินมันมากจะยิ่งเพิ่มเสมหะให้กำเริบขึ้น





แพทย์แผนจีนบอกอีกว่า โรคหวัดที่เป็นจากร่างกายปรับตัวไม่ทันยังแบ่งเป็นหวัดร้อนกับหวัดเย็น อาการไม่เหมือนกัน หวัดเย็นมีอาการกลัวหนาว น้ำมูกใส สะบัดร้อนสะบัดหนาว แก้ได้ด้วยดื่มน้ำขิงอุ่นๆ หรือปรุงอาหารใส่ขิงพริกไทยและพริก ช่วยเพิ่มพลังหยาง กินข้าวต้มใส่พริกไทยเยอะๆ แกงจืดใส่พริกไทย สาหร่ายดำ ถ้าเป็นหวัดร้อนจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้ต่ำๆ กินน้ำเก๊กฮวยกับใบหม่อนหรือชาฟ้าทะลายโจรโรคหวัดของแผนจีนมีทั้งหวัดร้อนหวัดเย็นหวัดชื้น หวัดเย็นมักมีอาการกลัวหนาว น้ำมูกใส สะบัดร้อน สะบัดหนาว ควรดื่มน้ำขิงอุ่นๆ หรือทำอาหารที่ประกอบด้วยขิงและพริกหรือพริกไทยเพื่อเสริมความอุ่นของร่างกายเป็นการเพิ่มพลังหยางให้รูขนเปิดเพื่อระบายพิษทางเหงื่อ


ถ้าคัดจมูกมากๆ ไม่ต้องไปใช้ยาหยอดจมูกราคาแพงๆ หรอก ใช้กระเทียมของเรานี่แหละ ล้างให้สะอาดตำให้แหลกเหยาะน้ำต้มสุกนิดหน่อย บีบเอาน้ำหยอดเข้าไปในจมูก ช่วยให้หายคัดจมูก แต่ถ้าเป็นหวัดร้อนโดยมีอาการเจ็บคอมีไข้ต่ำๆ ให้ต้มเก๊กฮวยกับใบหม่อนดื่มหรือกินฟ้าทลายโจร


อาหารที่มีขายทั่วไปตามท้องตลอด ที่ดูแล้วเกิดตามฤดูกาลกินได้ทั้งนั้น ไม่ต้องกินของแปลกหายาก ตำรับจีน และไทยมีอาหารแก้หนาว กินแล้วอบอุ่น หาได้ทั่วไปทั้งต้ม ผัดแกงตุ๋น กินให้ร้อนให้อุ่นท้อง เหงื่อออกสักหน่อย อาการเวียนหัวจะหายไป คือการปรับสมดุลด้วยอาหารนั่นเอง

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

วันเด็กแห่งชาติ


คำขวัญวันเด็กปี 2554

"รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ" คำขวัญวันเด็กในปีนี้จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย ซึ่งท่านนายกฯ ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับแนวคิดของคำขวัญนี้ว่า

รอบคอบ - เนื่องมาจากปัจจุบัน มีทางเลือกที่จะรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อใหม่ต่าง ๆ มากมาย ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์เห็นว่า เยาวชนไทยต้องรู้รอบด้าน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนอาจทำสิ่งที่เกิดปัญหาแก่ตนเองและสังคมได้ในอนาคต

รู้คิด - เมื่อเยาวชนไทยเรียนรู้รอบด้านแล้ว ต้องรู้จักคิดใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ จึงอยากให้น้อง ๆ เด็ก ๆ รู้จักคิดให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย

จิตสาธารณะ - สังคมต้องพึ่งพิงกัน เห็นได้ในยามมีภัยคนไทยเราช่วยกัน การปลูกฝังจิตสำนึกเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งในสังคม โดยต้องเริ่มที่เด็ก ๆ เยาวชนไทย


ประวัติความเป็นมาของวันเด็กแห่งชาติ

วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน