วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ)


ความเป็นมา
ความเป็นมาของการกวนข้าวอาซูรอ หรือกวนขนมอาซูรอสืบเนื่องจากได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยนบีมุฮ (อล) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ไร่นาของประชาชนและสาวกของนบีมุฮ (อล) และคนทั่วไปอดอาหาร นบีมุฮ (อล) จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานได้ ให้เอามากองรวมกัน และให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับประทานอาหารกันโดยทั่วหน้า

ความสำคัญ
การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน

พิธีกรรม
การกวนข้าวอาซูรอเริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการกวนข้าวอาซูรอกันที่ไหน เมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมายชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น เผือกมัน ฟักทอง มะละกอ กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่น ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสมโดยหั่นตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับกะทิจะคั้นเฉพาะน้ำมาผสม
วิธีกวน นำกะทะใบใหญ่ตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับคนขนมอาซูรอ หลังจากตั้งกะทะบนเตา คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบ ๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว คนด้วยไม้พายจนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแห้งได้ที่แล้วตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นบาง ๆ หรืออาจโรยหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่นฝอย แล้วแต่รสนิยมของท้องถิ่น แล้วตัดเป็นชิ้น ๆ แจกจ่ายกันรับประทาน

หมายเหตุ : เนื้อสมัน ปลาสมัน คือ ปลา หรือเนื้อวัว ที่ต้มเคี่ยวด้วยเครื่องแกงจนแห้ง ใช้ทัพพีขยี้จนเนื้อเหล่านั้นเป็นผงฝอย แล้วนำไปโรยหน้าขนมอาซูรอ ถ้าเป็นชนิดหวานมีส่วนผสมเหมือนอาซูรอชนิดคาว แต่งใส่เครื่องเทศ และอาหารจำพวกเนื้อ เพิ่มน้ำตาลให้มากขึ้นและไม่ต้องโรยหน้า

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นิทานเรื่อง....ต้นแอปเปิ้ลกับเด็กน้อย


นานมาแล้ว มีต้น แอปเปิ้ลใหญ่อยู่ต้นนึง และก็มีเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
ชอบเข้ามาอยู่ใกล้ๆและเล่นรอบๆต้นไม้นี้ทุกๆวัน
เขาปีนขึ้นไปบนยอดของต้นไม้ และก็กินผลแอปเปิ้ล

และก็นอนหลับไปภายใต้ร่มเงาของต้นแอปเปิ้ล
เขารักต้นไม้ และต้นไม้ก็รักเขา
เวลาผ่านไป เด็กน้อยโตขึ้น และเขาไม่มาวิ่งเล่นรอบๆต้นไม้ทุกวันอีกแล้ว
วันหนึ่ง เด็กน้อย กลับมาหาต้นไม้ เด็กน้อยดูเศร้า
"มาหาฉัน และมาเล่นกับฉันเหรอ " ต้นไม้ถาม


" ฉันไม่ใช่เด็กเล็กๆแล้วนะ ฉันไม่อยากเล่นรอบๆต้นไม้อีกแล้ว
ฉันต้องการของเล่น ฉันอยากได้เงินไปซื้อของเล่น"
เด็กน้อยตอบ
"ฉันไม่มีเงินจะให้ ...เก็บลูกแอปเปิ้ลของฉันไปขายสิ
เพื่อเอาเงินไปซื้อของเล่น "
ต้นไม้ตอบ
เด็กน้อยตื่นเต้นมาก เขาเก็บลูกแอปเปิ้ลไปหมด และจากไปอย่างมีความสุข
หลังจากเขาเก็บแอปเปิลไปหมดแล้ว เขาไม่กลับมาหาต้นไม้อีกเลย


วันหนึ่ง เด็กน้อยกลับมา เขาดูโตขึ้น
ต้นไม้รู้สึกตื่นเต้นมาก
" มาหาฉัน และมาเล่นกับฉันเหรอ " ต้นไม้ถาม ต้นไม้ดูเศร้า ......
"ฉันไม่มีเวลามาเล่นหรอก ฉันมีครอบครัวแล้ว
ฉันต้องทำงานเพื่อครอบครัวของฉันเอง
เราต้องการบ้าน ช่วยฉันได้ไหม "

" ฉันไม่มีบ้านจะให้ แต่... ตัดกิ่งก้านของฉันไปสิ ...เอาไปสร้างบ้าน "
ดังนั้นเด็กน้อยตัดกิ่งก้านทั้งหมดของต้นไม้ไป และจากไปอย่างมีความสุข
อีกครั้งที่ต้นไม้ถูกทิ้งให้เดียวดาย และเศร้า ....
วันหนึ่งในฤดูร้อน เด็กน้อยกลับมา ต้นไม้ดีใจมาก
"มาหาฉัน และมาเล่นกับฉันเหรอ " ต้นไม้ถาม
" เปล่า ฉันรู้สึกผิดหวังกับชีวิต และเริ่มแก่ขึ้น
ฉันอยากแล่นเรือไปพักผ่อนไกลๆ ให้เรือฉันได้ไหม"
" ใช้ลำต้นของฉันได้ เอาไปสร้างเรือ เพื่อเธอจะได้เล่นเรือไปและมีความสุข "
ต้นไม้ตอบ


ดังนั้น เด็กน้อยตัดลำต้นของต้นไม้ไปสร้างเรือ
เขาล่องเรือไป และไม่เคยกลับมาอีกเลย
หลายปีผ่านไป ในที่สุดเด็กน้อยกลับมา
คราวนี้เขาดูแก่ลงไปมาก


" ฉันเสียใจ ฉันไม่เหลืออะไรจะให้อีกแล้ว
ไม่มีผลแอปเปิ้ลให้ .... ฉันไม่มีลำต้นให้ปีนอีกแล้ว "



" ฉันไม่มีฟันจะกินแล้ว
ฉันปีนไม่ไหว และฉันก็แก่แล้ว "
เด็กน้อยตอบ

"ฉันไม่มีอะไรเหลือให้อีกแล้ว สิ่งเดียวที่เหลือ มีเพียงรากที่กำลังจะตาย "
" ตอนนี้ฉันไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว แค่อยากได้ที่พักพิง ฉันเหนื่อยมาหลายปีแล้ว"
" รากของต้นไม้แก่ๆ จะเป็นที่พักพิงของหนูได้
...... มาสิ นั่งลงข้างๆฉัน .. หลับให้สบาย....."
เด็กน้อยนั่งลงข้างๆ ต้นไม้ดีใจ ยิ้ม ...และน้ำตาไหล ........


นี่เป็นเรื่องสำหรับทุกๆคน ต้นไม้ในเรื่องคือพ่อแม่
เมื่อเราเป็นเด็กตัวเล็กๆ เรารักที่จะเล่นกับพ่อกับแม่...
เมื่อเราโตขึ้น เราทอดทิ้งพ่อ และแม่ และกลับมาหาท่าน
เมื่อเราต้องการบางสิ่งบางอย่าง หรือเมื่อเรามีปัญหา
ไม่ว่าอย่างไร...พ่อ และแม่ของเราก็จะอยู่และให้ทุกสิ่งอย่างที่ท่านทำได้
หวังเพียงเรามีความสุข

คุณอาจจะคิดว่า "เด็กน้อย" ในเรื่องโหดร้าย
แต่นั่นคือความจริงที่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเราทำกับผู้มีพระคุณอย่างไร?

........ แล้วต้นไม้ของคุณล่ะ ....... เด็กน้อย .....???

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ตรุษจีน


ตำนานความเป็นมาของวันตรุษจีน

ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย

ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกันเมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดังและไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก

เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุก
สนาน


ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่

วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู๋เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว

วันไหว้ คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ ตอนเช้ามืดจะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ ตอนสาย จะไหว้ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง ตอนบ่าย จะไหว้ ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) วันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น


ความเชื่อต่างๆใน วันตรุษจีน ที่ห้ามทำและที่นิยมทำกัน

วันตรุษจีน ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัยและคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา วันตรุษจีน ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่

วันตรุษจีน ถ้าหากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่หรือ วันตรุษจีน คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน

การแต่งกายและความสะอาดใน วันตรุษจีน เราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วง เทศกาลวันตรุษจีน นี้สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี

วันตรุษจีน กับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับ คนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล

บุคคลแรกที่พบใน วันตรุษจีน และคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี

การเข้าไปหาใครในห้องนอนใน วันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก

ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรใน วันตรุษจีน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคง ยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียมและวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็นครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน